ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Back strain / Musculotendinous strain)  (อ่าน 463 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 428
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Back strain / Musculotendinous strain)

โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดหลัง พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเป็นต้นไป

เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และมักจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ แต่อาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังได้


สาเหตุ

มักเกิดจากการทำงานก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก เล่นกีฬา นั่ง ยืน นอน ก้มตัวลงหยิบของ หรือยกของในท่าที่ไม่ถูกต้อง ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป หรือนอนที่นอนนุ่มเกินไป ทำให้เกิดแรงกดตรงกล้ามเนื้อสันหลังส่วนล่าง กล้ามเนื้อบริเวณนั้นมีอาการแข็งและเกร็งตัว ทำให้เกิดอาการปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง

คนที่อ้วน หรือหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ก็อาจมีอาการปวดหลังได้เช่นกัน


อาการ

ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง (ตรงบริเวณกระเบนเหน็บ) ซึ่งอาจเกิดขึ้นฉับพลัน หรือค่อยเป็นทีละน้อย อาการปวดอาจเป็นอยู่ตลอดเวลาหรือปวดเฉพาะในท่าบางท่า (เช่น การก้มตัว การบิดตัวเอี้ยวตัว) การไอ จาม อาจทำให้รู้สึกปวดมากขึ้น

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแข็งแรงดี แขนขาขยับได้เป็นปกติ ไม่มีอาการปวดร้าวลงไปที่ขาและไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย


ภาวะแทรกซ้อน

มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร นอกจากทำให้ปวดทรมาน เคลื่อนไหวไม่สะดวก ทำงานลำบาก


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก

มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร

บางรายอาจพบอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง และเมื่อกดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะรู้สึกเจ็บ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตว่ามีสาเหตุจากอะไร แล้วแก้ไขเสีย เช่น ถ้าปวดหลังตอนตื่นนอน ก็อาจเกิดจากที่นอนนุ่มไปหรือนอนเตียงสปริง ก็แก้ไขโดยนอนบนที่แข็งและเรียบแทน

ถ้าปวดหลังตอนเย็น ก็มักจะเกิดจากการนั่งตัวงอตัวเอียง หรือใส่รองเท้าส้นสูง ก็พยายามนั่งให้ถูกท่า หรือเปลี่ยนเป็นรองเท้าธรรมดาแทน

ถ้าอ้วนไป ควรพยายามลดน้ำหนัก

2. ถ้ามีอาการปวดมาก ให้นอนหงายบนพื้น แล้วใช้เท้าพาดบนเก้าอี้ให้เข่างอเป็นมุมฉากสักครู่หนึ่งก็อาจทุเลาได้ หรือจะใช้ยาหม่องหรือน้ำมันระกำทานวด หรือใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบก็ได้

ถ้าไม่หายก็ให้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไมใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก นาโพรเซน)

ผู้ป่วยควรนอนที่นอนแข็ง และหมั่นฝึกกายบริหารให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง

3. ถ้าเป็นเรื้อรัง หรือมีอาการปวดร้าวลงมาที่ขาหรือชาที่ขา ขาไม่มีแรง หรือน้ำหนักลด อาจเกิดจากสาเหตุอื่น อาจต้องเอกซเรย์และ/หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ (ตรวจอาการปวดหลัง)

ในกรณีที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน อาจมีสาเหตุจากภาวะวิตกกังวล ความเครียดหรือซึมเศร้า ถ้าผู้ป่วยมีประวัติอาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ ก็จะให้การรักษาภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย (ดู "โรควิตกกังวล/โรคกังวลทั่วไป" หรือ "โรคอารมณ์แปรปรวน/โรคซึมเศร้า" เพิ่มเติม)


การดูแลตนเอง

ถ้ามีอาการปวดยอกกล้ามเนื้อหลังเวลาบิดเอี้ยวตัว ก้มตัว หรือหลังตื่นนอน โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ถ้ามีอาการปวดมาก หรือขยับตัวทำให้กล้ามเนื้อหลังเกร็งตัวและปวด ควรนอนพักในท่านอนหงายบนที่นอนแข็งตลอดเวลา เวลาลุกนั่งกินอาหารและเดินเข้าห้องน้ำควรมีคนช่วยพยุงจนกว่าอาการจะทุเลา
    บริหารกล้ามเนื้อหลัง เช่น นอนหงายบนพื้น แล้วใช้เท้าพาดบนเก้าอี้ให้เข่างอเป็นมุมฉาก (ดู "ท่าบริหารขณะมีอาการปวดหลัง" ในหัวข้อ "การรักษาโดยแพทย์" ด้านบน)
    ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ
    ใช้ยาหม่องหรือน้ำมันระกำทานวด     
    ถ้าปวดมากกินยาแก้ปวด-พาราเซตามอล*


ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดร้าวแบบเสียว ๆ หรือชา ๆ มาที่ขา 1-2 ข้าง
    ขาอ่อนแรง หรือเดินลำบาก
    มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่นหรือเป็นสีแดง หรือน้ำหนักลด
    ปวดหลังรุนแรง หรือมีอาการปวดตลอดเวลาจนขยับตัวไม่ได้
    ดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วไม่ทุเลา หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
    มีประวัติการแพ้ยา เป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือผู้มีโรคตับ โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการใช้ยา หรือแพทย์นัดติดตามการรักษาอยู่เป็นประจำ
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ


การป้องกัน

1. ระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ) ให้ถูกต้อง

2. หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ (ดู "ท่าบริหารเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง" ในหัวข้อ "การรักษาโดยแพทย์" ด้านบน)

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ และบริหารร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย

4. หลีกเลี่ยงการนอนบนที่นอนนุ่มเกินไป

5. หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป 

6. ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน


ข้อแนะนำ

1. อาการปวดยอกกล้ามเนื้อหลังแบบนี้เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป ทั้งในหมู่คนที่ใช้แรงงาน ยกหรือแบกของหนัก และในหมู่คนที่ทำงานนั่งโต๊ะนาน ๆ หรือมีการเคลื่อนไหวในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งบางคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคไต โรคกษัย และซื้อยาชุด ยาแก้กษัย หรือยาแก้โรคไตกินอย่างผิด ๆ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดโทษได้

โดยทั่วไปอาการปวดหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อมักจะปวดตรงกลางหลัง (บริเวณกระเบนเหน็บ) ส่วนโรคไตมักจะปวดที่สีข้าง (มักเป็นเพียงข้างเดียว) และอาจมีไข้สูง หนาวสั่น หรือปัสสาวะขุ่นหรือแดงร่วมด้วย

2. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง หากสังเกตว่ามีอาการปวดร้าวลงมาที่ขาแบบเสียว ๆ ชา ๆ ข้างหนึ่งข้างใดหรือทั้งสองข้าง ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการปวดตามประสาทขาเนื่องจากรากประสาทถูกกด

3. ผู้ที่มีอายุ 10-30 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชาย หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังทุกวันนานเกิน 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง มากกว่าอาการปวดกล้ามเนื้อหลังหรือปวดยอกหลัง