ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ภาวะพร่องแล็กเทส (Lactase deficiency)  (อ่าน 321 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 388
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ภาวะพร่องแล็กเทส (Lactase deficiency)

แล็กเทส เป็นเอนไซม์ที่สร้างโดยเยื่อบุลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยแล็กโทส (lactose) ซึ่งเป็นน้ำตาลที่มีอยู่ในน้ำนม (ทั้งนมมารดา นมวัว และนมแพะ) ให้แตกออกเป็นกลูโคสและกาแล็กโทส (galactose) ซึ่งมีขนาดเล็กลง ง่ายต่อการดูดซึม ถ้าหากลำไส้พร่องเอนไซม์ชนิดนี้ น้ำตาลแล็กโทสจะไม่ถูกย่อย และไม่ถูกลำไส้ดูดซึม ทำให้มีการดึงดูดน้ำเข้ามาในลำไส้ เกิดอาการท้องเดิน และเมื่อแล็กโทสผ่านลงไปในลำไส้ใหญ่ก็จะมีการทำปฏิกิริยากับแบคทีเรีย เกิดแก๊ส (ลม) ในลำไส้ (ทำให้ท้องอืด) กรดแล็กติก และสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งจะออกมาในอุจจาระ (ทำให้ท้องเดิน)

ภาวะนี้พบในคนทุกวัย มักเริ่มพบตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว พบได้น้อยในทารก

อาการท้องเดินที่เกิดจากภาวะนี้ มักจะเรียกว่า ภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส (lactose intolerance)

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เป็นภาวะพร่องแล็กเทสชนิดปฐมภูมิ ซึ่งไม่มีสาเหตุชักนำ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของลำไส้เล็กที่มีการสร้างเอนไซม์ชนิดนี้มากตอนแรกเกิด และจะค่อย ๆ สร้างได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่วัยเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ มักจะเริ่มปรากฏอาการท้องเดินเมื่ออายุประมาณ 3-5 ปี

บางรายอาจเป็นภาวะพร่องแล็กเทสชนิดทุติยภูมิ ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ ท้องเดินจากไวรัสโรตาในทารก ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย การติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเอดส์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการผ่าตัดลำไส้ออกไปปริมาณมาก ทำให้ลำไส้สร้างเอนไซม์แล็กเทสได้น้อยลง

ส่วนน้อยอาจเกิดจากความผิดปกติโดยกำเนิด ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้ผู้ป่วยพร่องเอนไซม์ชนิดนี้ตั้งแต่แรกเกิด และจะมีอาการแสดงของโรคนี้ไปจนตลอดชีวิต

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางลำไส้เกิดขึ้นหลังบริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น ไอศกรีม น้ำสลัด เนย นมช็อกโกแลต) ประมาณ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง อาการมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของภาวะพร่องแล็กเทสและปริมาณแล็กโทสที่บริโภค

ในรายที่เป็นไม่มาก มักมีอาการมีลมในลำไส้มาก ท้องอืด คลื่นไส้ และปวดบิดในท้อง โดยไม่มีอาการท้องเดิน

ในรายที่เป็นมากมักมีอาการท้องเดิน (ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลว) ร่วมด้วย ส่วนปริมาณนมที่บริโภคจนทำให้เกิดอาการท้องเดินนั้นแปรผันไปตามผู้ป่วยแต่ละราย บางรายดื่มนมได้วันละ 1-2 แก้วก็ไม่เกิดอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางรายเพียงดื่มนมปริมาณเล็กน้อยก็เกิดอาการท้องเดิน


ภาวะแทรกซ้อน

โดยทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากสร้างความรำคาญ ส่วนทารกและเด็กเล็กที่อาศัยนมเป็นอาหารหลัก หากเกิดอาการท้องเดินเรื้อรังก็อาจทำให้น้ำหนักตัวไม่ขึ้นได้

โอกาสที่จะเป็นรุนแรงถึงขั้นขัดขวางการดูดซึมจนน้ำหนักลดและขาดสารอาหารนั้นมีน้อยมาก ถ้าพบมักเกิดจากการดูดซึมผิดปกติด้วยสาเหตุอื่น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก

ส่วนใหญ่มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน รวมทั้งภาวะขาดน้ำ

บางครั้งอาจพบอาการท้องอืด หรือได้ยินเสียงเคลื่อนไหวของลำไส้

ในรายที่มีอาการเรื้อรังและไม่แน่ใจในการวินิจฉัย แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะทำการตรวจระดับไฮโดรเจนในลมหายใจ (hydrogen breath test) ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะพบว่ามีค่าสูงกว่าปกติ ส่วนทารกและเด็กเล็กอาจทำการตรวจหาระดับความเป็นกรดในอุจจาระ (stool acidity test) ซึ่งจะพบว่าสูงกว่าปกติ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

1. สำหรับผู้ป่วยที่เคยดื่มนมได้แต่เกิดภาวะพร่องแล็กเทสหลังเป็นโรคติดเชื้อ เมื่อรักษาจนโรคติดเชื้อหายดีแล้ว เยื่อบุลำไส้มักจะฟื้นตัวและสร้างแล็กเทสได้เป็นปกติภายใน 3-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็สามารถกลับมาบริโภคนมได้เหมือนเดิม ระหว่างรอฟื้นตัว แนะนำให้ผู้ป่วยงดบริโภคนม ให้บริโภคถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ (ในทารกอาจให้กินนมถั่วเหลือง) แทน

2. สำหรับผู้ที่มีภาวะพร่องแล็กเทสเรื้อรัง (เป็นโดยกำเนิดหรือเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้) อาการท้องเดินมักจะกำเริบหลังบริโภคนมทุกครั้ง ก็จะให้คำแนะนำให้ผู้ป่วยในการปฏิบัติตัวดังนี้

    ดื่มนมครั้งละน้อย (น้อยกว่า 200 มล.) หรือดื่มพร้อมอาหารมื้อหลัก หรือบริโภคโยเกิร์ต (ซึ่งผ่านการย่อยจากแบคทีเรียมาระดับหนึ่งแล้ว) ก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการได้ หรือลดอาการให้น้อยลงได้
    ถ้าไม่ได้ผลให้ผู้ป่วยบริโภคถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ในทารกอาจให้กินนมถั่วเหลือง
    ในรายที่จำเป็นต้องงดบริโภคนมโดยเด็ดขาด ควรบริโภคโปรตีน แคลเซียม และสารอาหารอื่น ๆ ที่มีอยู่ในนมจากแหล่งอาหารอื่น (เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ งา ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง ผักใบเขียว) ถ้าจำเป็นอาจให้กินยาเม็ดแคลเซียมเสริมเพื่อการสร้างกระดูก (การเจริญเติบโตของร่างกายเด็ก) และป้องกันภาวะกระดูกพรุน (ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)
    ในรายที่ต้องการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมต่อไป อาจต้องให้กินเอนไซม์แล็กเทส (ในรูปของยาเม็ด) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้

3. ในรายที่ให้การดูแลรักษาแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการเรื้อรัง และสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จะทำการชันสูตรเพิ่มเติมและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการท้องเดินนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะพร่องแล็กเทส ควรดูแลรักษา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้

    ดื่มนมครั้งละน้อย (น้อยกว่า 200 มล.) หรือดื่มพร้อมอาหารมื้อหลัก หรือบริโภคโยเกิร์ต (ซึ่งผ่านการย่อยจากแบคทีเรียมาระดับหนึ่งแล้ว) ก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการได้ หรือลดอาการให้น้อยลงได้
    ถ้าไม่ได้ผลให้ผู้ป่วยบริโภคถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ในทารกอาจให้กินนมถั่วเหลือง
    ในรายที่จำเป็นต้องงดบริโภคนมโดยเด็ดขาด ควรบริโภคโปรตีน แคลเซียม และสารอาหารอื่น ๆ ที่มีอยู่ในนมจากแหล่งอาหารอื่น (เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ งา ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง ผักใบเขียว) ถ้าจำเป็นอาจให้กินยาเม็ดแคลเซียมเสริมเพื่อการสร้างกระดูก (การเจริญเติบโตของร่างกายเด็ก) และป้องกันภาวะกระดูกพรุน (ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)
    ในรายที่ต้องการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมต่อไป อาจต้องให้กินเอนไซม์แล็กเทส (ในรูปของยาเม็ด) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าลองปฏิบัติตัวดังกล่าวแล้วไม่ทุเลาใน 2-3 วัน หรือมีความวิตกกังวล


การป้องกัน

ภาวะนี้มักเป็นโรคประจำตัวเรื้อรัง สามารถป้องกันไม่ให้กำเริบบ่อยโดยการงดหรือลดการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนม หรือกินเอนไซม์แล็กเทสเสริม


ข้อแนะนำ

1. อาการท้องเดินที่เกิดจากการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนม นอกจากเกิดจากภาวะพร่องแล็กเทสแล้ว ยังอาจเกิดจากการแพ้โปรตีนในนม (ซึ่งจะมีอาการภูมิแพ้ เช่น ลมพิษ ผื่นคันร่วมด้วย ดู "การแพ้อาหาร" ที่หัวข้อสาเหตุ ใน "โรคลมพิษ" เพิ่มเติม) หรือโรคลำไส้แปรปรวน ควรแยกแยะสาเหตุให้ได้ชัดเจน และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

2. ภาวะพร่องแล็กเทสมักไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด ถ้าหากเกิดขึ้นหลังจาการติดเชื้อของลำไส้มักเป็นเพียงชั่วคราว และหายขาดได้ แต่ถ้าเป็นภาวะพร่องแล็กเทสแบบถาวร ก็ควรแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในการดูแลรักษาตนเองอย่างจริงจัง ผู้ป่วยควรสังเกตว่าการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณเท่าใดที่ไม่ทำให้เกิดอาการ ก็ให้บริโภคในปริมาณนั้นไปเรื่อย ๆ หากต้องการงดบริโภคนมโดยเด็ดขาด ก็ควรรู้จักเลือกบริโภคอาหารให้ถูกต้อง โดยเฉพาะควรได้รับแคลเซียมจากแหล่งอาหารอื่นให้เพียงพอ