หมอออนไลน์: หูตึง/หูหนวก (Hearing loss/Deafness)หูตึง (หูหนวก) หมายถึง ภาวะการได้ยินเสียงลดลง อาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ยินเลย (หูหนวกสนิท)
สาเหตุ
มีสาเหตุได้มากมาย เช่น เยื่อแก้วหูทะลุ, หูชั้นกลางอักเสบ, โรคเมเนียส์, ซิฟิลิส, หูหนวกมาแต่กำเนิด (เช่น ทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด) ซึ่งมักจะมีอาการเป็นใบ้ร่วมด้วย, เนื้องอกสมองหรือเนื้องอกประสาทหู, พิษจากยา (เช่น สเตรปโตไมซิน คาน่าไมซิน เจนตาไมซิน), หูตึงในผู้สูงอายุ, หูตึงจากอาชีพ เป็นต้น
ในที่นี้จะขอกล่าวถึง หูตึงในผู้สูงอายุ และหูตึงจากอาชีพ
หูตึงในผู้สูงอายุ เกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัย พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าและรุนแรงกว่าผู้หญิง โดยมากจะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป
หูตึงจากอาชีพ ผู้ที่ทำงานอยู่ในที่ที่มีเสียงดังขนาดมากกว่า 90 เดซิเบลขึ้นไปเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความถี่สูง ๆ (เสียงสูง) มักเกิดอาการหูตึงได้ เนื่องจากเซลล์ประสาทหูถูกคลื่นเสียงทำลาย หากถูกทำลายรุนแรงอย่างถาวร มักไม่มีทางแก้ไขให้กลับคืนดีได้
อาการ
หูตึงในผู้สูงอายุ มีอาการหูอื้อ หูตึง การได้ยินแย่ลง ซึ่งมักจะค่อยเป็นมากขึ้นทีละน้อย ช่วงแรกยังได้ยินเสียงตะโกนดัง ๆ เมื่อเป็นรุนแรงขึ้นจะไม่ได้ยินเสียงคนพูด ทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร
หูตึงจากอาชีพ ผู้ป่วยมักจะเริ่มจากการได้ยินเสียงสูง (เช่น เสียงกระดิ่ง) สู้เสียงต่ำ (เช่น เสียงเคาะประตู) ไม่ได้ ถ้ายังคงทำงานอยู่ในที่ที่เสียงดังเช่นเดิม อาการหูตึงจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นจนถึงขั้นหูหนวกได้ แต่ถ้าเลิกทำงานในที่ที่เสียงดัง ๆ อาการหูตึงจะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่มีอาการหูตึงมาก ๆ มีความลำบากในการสื่อสารกับผู้คน อาจทำให้มีปมด้อย ไม่กล้าออกสังคม มีความวิตกกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้าได้
ทารกที่มีหูตึงมาแต่กำเนิด มีโอกาสเป็นใบ้ร่วมด้วย
การวินิจฉัย
สำหรับหูตึงในผู้สูงอายุ และหูตึงจากอาชีพ แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากการที่ผู้ป่วยมีอาการหูตึง โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ และการตรวจร่างกายมักไม่พบความผิดปกติทางร่างกายและโครงสร้างภายนอกของหู แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการใช้เครื่องมือตรวจการได้ยิน พบว่าสมรรถนะของการได้ยินลดลงซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสื่อมของประสาทหู
ในบางกรณี แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแยกแยะสาเหตุให้ชัดเจน เช่น การตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
อาการหูตึง แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ ถ้าเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบจากการติดเชื้อ ให้ยารักษาภาวะติดเชื้ออักเสบ, แก้วหูทะลุ ก็อาจรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไข เป็นต้น
หูตึงในผู้สูงอายุ และหูตึงจากอาชีพ ซึ่งเกิดจากประสาทหูเสื่อม ไม่มียารักษา หากมีอาการหูตึงหูนวกรุนแรง ก็จะแก้ไขด้วยการให้ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยฟัง
การดูแลตนเอง
เมื่อเริ่มรู้สึกหูอื้อ หูตึง ความสามารถในการได้ยินแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่ามีอาการหูตึง ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด ๆ ควรดูแลรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำ และติดตามรักษาตามคำแนะนำของแพทย์
การป้องกัน
ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้หูตึง
สาเหตุบางอย่างป้องกันไม่ได้ เช่น หูตึงในผู้สูงอายุซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัย โรคเมเนียส์ เนื้องอกประสาทหู เป็นต้น
ส่วนสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบ เยื่อแก้วหูทะลุจากการบาดเจ็บ หูตึงจากพิษยา หูตึงจากอาชีพ มีวิธีป้องกัน ดังนี้
เมื่อเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรดูแลรักษาให้ได้ผล อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู
สำหรับหูตึงจากอาชีพ อาจป้องกันไม่ให้หูตึงด้วยวิธีดังนี้
หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เสียงดังนาน
ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดัง ควรสวมเครื่องป้องกันหูขณะที่อยู่ในที่ทำงาน, ควรให้แพทย์ทำการทดสอบการได้ยินเป็นระยะ, หากเริ่มมีอาการหูตึง ควรเลิกทำงานในสถานที่เดิม และย้ายไปทำงานในสถานที่ที่ไม่มีเสียงดัง
ข้อแนะนำ
หูอื้อหรือหูตึงเป็นอาการที่อาจเกิดจากสาเหตุได้หลายประการ หากพบว่ามีอาการหูอื้อ หูตึง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ